

ทักษะการพูดเป็นการสื่อสารให้ผู้อื่นได้เข้าใจในความต้องการของเรา หรือสื่อสารเพื่อให้ประโยชน์บางอย่างกับผู้คน การพูดจึงเป็นเสมือนอีกหนึ่งหัวใจของความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ ไม่มีผู้นำคนไหนพูดไม่เป็น ไม่มีคนสำเร็จคนไหนที่ไม่เคยเอาทักษะการพูดออกมาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ แม้ว่าเราจะสามารถสื่อสารด้วยช่องทางอื่นๆ ได้ เช่น ข้อความ รูปภาพ เป็นต้น แต่ท้ายที่สุด สิ่งที่ดึงดูดความสนใจของคนอื่นได้ดีกว่าก็คือการพูดนั่นเอง คนที่พูดได้อย่างมีเสน่ห์น่าฟัง น่าติดตาม จะเป็นผู้ที่ได้เปรียบคนอื่นโดยอัตโนมัติ
ฝึกทักษะการพูดไม่ยากอย่างที่คิด
ในเมื่อเรารู้แล้วว่า หากพูดเป็น เราจะได้เปรียบ แล้วจะมีเหตุผลอะไรที่เราจะไม่พยายามฝึกฝน ต่อให้ไม่เคยพูดมาก่อนเลยมันก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินกว่าจะฝึกได้ ทำแรกๆ มันอาจจะผิดพลาดบ้าง ติดขัดบ้าง แต่นั่นก็เป็นเส้นทางที่ทุกคนต้องก้าวผ่าน ไม่นานก็จะพูดได้อย่างคล่องแคล่วน่าสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ เอง ต่อไปนี้เป็นเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ที่จะช่วยให้การฝึกพูดนั้นพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว
1. ทำความเข้าใจสิ่งที่จะพูด
สิ่งที่นักพูดหน้าใหม่หลายคนทำพลาดก็คือ เอาแต่สนใจว่าตัวเองจะต้องพูดอะไรบ้าง โดยไม่ได้ทำความเข้าใจเนื้อหาที่จะต้องสื่อสารก่อนเลย เมื่อถึงเวลาพูด หากลืมกลางอากาศว่าจะต้องพูดอะไร ก็ไม่สามารถด้นสนเพื่อเชื่อมต่อข้อมูลได้เลย หรือต่อให้พูดได้จนจบ ก็ไม่อาจส่งสารที่แท้จริงให้กับผู้ฟังได้ แล้วก็ไม่มีเสน่ห์เวลาพูดด้วย
2. ทำความเข้าใจผู้ฟัง
ผู้ฟังที่แตกต่างต้องการวิธีการสื่อสารที่แตกต่าง ยกตัวอย่างง่ายๆ คือ ถ้าผู้ฟังเป็นข้าราชการกับผู้ฟังเป็นชาวบ้าน เนื้อหาเดียวกันจะไม่สามารถบอกเล่าเหมือนกันทุกประการได้ เพราะจะมีคนที่ไม่เข้าใจ ต้องปรับภาษาตีความเผื่อผู้ฟังเอาไว้ล่วงหน้าเลย ถึงจะสมกับเป็นนักพูดที่ดี
3. เตรียมพร้อมเนื้อหา
วิธีการเตรียมเนื้อหาที่ดีคือ ทำอย่างไรก็ได้ให้เหมาะกับตัวเอง บางคนถนัดที่จะร่างบทพูดเป็นข้อความยาวๆ บางคนถนัดจดบันทึกเป็นหัวข้อหลักๆ แล้วพูดอธิบายต่อยอดเอาเอง ไม่ว่าถนัดแบบไหนก็ไม่มีผิดไม่มีถูก ขอแค่ข้อมูลถูกต้องและเหมาะสมกับเวลาก็พอ
4. ซ้อม ซ้อมและซ้อม
ความตื่นเต้นความประหม่าจะมาพร้อมกับการพูดครั้งแรกๆ เสมอ หลายคนไม่สามารถจัดการกับความตื่นเต้นเหล่านั้นระหว่างที่กำลังพูดได้ ทางแก้ก็คือให้ซ้อมพูดเสมือนจริงก่อน เพื่อให้รู้จังหวะของตัวเอง และรู้ถึงความรู้สึกที่จะเกิดขึ้น มันอาจไม่ได้ช่วยให้ความตื่นเต้นในวันจริงหายไปทั้งหมด แต่มันจะช่วยลดอาการเหล่านั้นให้น้อยลงได้
5. สบตาและยิ้มเข้าไว้
การพูดนำเสนอบางสิ่งบางอย่าง ไม่ได้เป็นเรื่องน่ากลัวเท่ากับที่เราจินตนาการเอาไว้ ผู้ฟังไม่ได้จ้องจับผิดหรือประเมินเราอยู่ อย่ากดดันตัวเองมากเกินไป ระหว่างการพูด ถ้ามันจะผิดบ้าง ตกหล่นบ้าง ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ให้ยิ้มเข้าไว้พร้อมกับสบตาผู้ฟังอย่างทั่วถึง อย่างน้อยเราก็จะได้เห็นปฏิกิริยาของผู้ฟังว่าเข้าใจสิ่งที่เราพูดหรือไม่ แต่ถ้าใครกลัวว่ามองตาผู้ฟังแล้วจะยิ่งเขินอาย ก็ให้มองผู้ฟังที่อยู่ไกลสักหน่อยก็จะช่วยให้รู้สึกดีขึ้น
นี่เป็นเทคนิคเพียงบางส่วนเท่านั้นที่นักพูดเกือบทุกคนนิยมใช้กันในตอนเริ่มต้นเมื่อทำซ้ำไปเรื่อยๆ วันหนึ่งเราก็จะไม่ต้องใช้ตัวช่วยอะไรเลย พอถึงคราวต้องพูดก็จะพูดได้ทันที แถมพูดได้ดีด้วย การพูดคือทักษะอย่างหนึ่งและหัวใจของการฝึกทุกทักษะบนโลกใบนี้ก็คือการลงมือทำบ่อยๆ ยิ่งบ่อยก็ยิ่งเก่งและชำนาญขึ้นนั่นเอง